top of page

หลายตอนที่ผ่านมาเล่าเรื่องไปเรียนของหลักสูตรการเป็นผู้นำ

Post นี้ยาวหน่อยนะครับ

CoL: special edition ชีวิตที่ไม่อยากตาม ไม่อยากนำ มีด้วยเหรอชีวิตแบบนี้


หลายตอนที่ผ่านมาเล่าเรื่องไปเรียนของหลักสูตรการเป็นผู้นำ และเห็นหลายตัวอย่าง หลายบทเรียนของการเป็นผู้นำผ่านเรื่องราวต่างๆ วันนี้ขอหนีออกจากเรื่องเดิมๆ มาเป็นเรื่องภาคพิเศษ ที่ไม่ได้ไปเรียนรู้ที่ต่างประเทศ แต่อยู่แถว ถนนราชดำเนินกลาง Challange of Life: ตอน ชีวิตท้าทายของคนเร่ร่อน ไร้บ้าน


ผมไม่เคยมีโอกาสทำงานในเรื่องนี้มาก่อน เพิ่งจะมีโอกาสพบเจอช่วงโควิด เพราะมีข่าวคนไร้บ้านเสียชีวิตอยู่กลางถนน ซึ่งตอนนั้นทุกคนกำลังกลัวผีโควิด ก็โทษว่า คนเร่ร่อนตายจากโควิด ทีนี้งานเข้า คนไร้บ้าน ที่ไม่มีบ้าน อยู่ริมถนน กลายเป็น คนที่ถูกตั้งคำถาม และต้องสงสัย เป็นจำเลยทางสังคมทันทีว่า พวกนี้ต้องเป็นพวกที่แพร่เชื้อโควิดแน่นอน เพราะสกปรก และน่ารังเกียจ!!!!


ช่วงโควิด ผมช่วยให้มีการตั้งอาสาสมัครทางการแพทย์ ชื่อ ว่า CoCare ไม่ใช่ CarCare นอกจากเราให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโควิด Online แล้วเรายังจัดตั้งหน่วยตรวจคัดกรองโควิดด้วยความกรุณา จากหลายหน่วยงาน และมูลนิธิเวชดุสิต ที่สนับสนุนชุดตรวจ สปคม. อนุญาตให้เราใช้รถตรวจฯพระราชทาน ทีม MT Hero ที่รวมรวมนักเทคนิกการแพทย์ มาเป็นอาสาสมัครออกตรวจคัดกรองโควิด เราช่วยกันจัดการออกหน่วยตรวจคัดกรองโควิดรายสัปดาห์ที่คลองเตย ครับสลัมคลองเตย ผมก็ไม่เคยไปมาก่อน แต่พอไปสำรวจแล้ว ไม่เพียงแต่จะเป็นชุมชนแออัด แต่เป็นที่พักพิงของแรงงานที่เราอาจจะไม่เคยนึกถึง ครับ แรงงานกลุ่ม แม่บ้าน Outsource , security คนขับรถรับจ้าง หรือ rider จนไปถึงลูกจ้างร้านอาหาร พนักงานเสริฟ ฯลฯ แรงงานมากกว่า 50,000 คน เข้าออกพื้นที่นี้ทุกวัน หากกลุ่มนี้ติดเชื้อ การระบาดจะกระจายอย่างรวดเร็วทั้งกรุงเทพเพราะชุมชนแออัดจริงๆ แล้วท่านๆทั้งหลายในห้าง ใน office หรูจะรอดไหมตอนนั้น หากคนในพื้นที่นี้ติดเชื้อ ที่คลองเตยนี่ก็เลยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงาน


กิจกรรมนี้ทำให้รู้จักทีมงาน มูลนิธิอิสรชน โดยมี อจ. จ๊ะ (รศ.ดร. ธนพร ศรียาภัย) ประสานมาว่าจะขอให้ช่วยจัดหน่วยตรวจให้กับคนไร้บ้านที่ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม พวกเราก็ไปทำให้ตามที่ร้องขอ ไปกันตั้งแต่เช้า ตั้งหน่วยเสร็จ ไม่เห็นมีใครมา ไหนบอกว่าจะให้มาตรวจ 200 คน ทีมงานมูลนิธิอิสรชน บอกว่าใจเย็นๆ คนไร้บ้านเขาตื่นสาย สัก 10 โมงก็มา


ครับ จริงดังที่บอกไว้ เขาค่อยๆทะยอย เดินออกมา ตามสภาพปกติของคนไร้บ้าน ทุกคนร่วมมือต่อการให้ข้อมูล และตรวจเสร็จสิ้น ไม่พบใครติดเชื้อ และเราได้ข้อมูลมาเพื่อรอบหน้าจะตรวจอีก โดยวางแผนกันว่า 3 ครั้งหากไม่พบก็คงเป็นกลุ่มที่ปลอดเชื้อโควิด และสามารถจัดหาวัคซีนมาให้ซึ่งตอนนั้นก็ได้ความกรุณาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพราะกลุ่มนี้ ไม่สามารถทำอะไรกับระบบหมอพ้อ เฮ้ย พร้อม ได้เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน


การไปทำงานกับกลุ่ม มูลนิธิอิสรชน ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้กลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงออกมาอยู่บนถนน แต่จากที่เห็นสภาพ กว่า 60% เป็นผู้สูงอายุ และจากที่สอบถามส่วนใหญ่มีปัญหาด้านจิตเวชร่วมด้วย ก็เลยตัดสินใจขออนุญาตทางมูลนิธิอิสรชน ไปออกหน่วยเดินเพื่อตรวจประเมิน คนไร้บ้านริมทางข้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งต้นกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินได้ไม่ไกล แค่หน้าศึกษาภัณฑ์เดิม ก็มีคนไร้บ้านมาให้ตรวจ จนถึงให้การรักษา ใช่ครับ เรามีทีมแพทย์ไป 2-3 คนพร้อมยา เวชภัณฑ์ ไม่ได้ไปตรวจอย่างเดียว ไปคุยกับเขาด้วย ก็น่าดีใจที่เขาไว้ใจ คุยด้วยไม่ยอมเลิกกันทีเดียว


สิ่งที่ได้เรียนรู้มา ว่าทำไมออกมาเป็นคนไร้บ้าน หลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นคนไข้จิตเวช ที่ญาติพี่น้องไม่ต้องการให้อยู่บ้าน แต่ที่น่าสนใจ บางคนไม่ได้ไม่มีเงิน มีคนที่เป็นข้าราชการเกษียณมีบำนาญ มีบ้านมีครอบครัว ที่ออกมาเพราะรู้สึกผิดที่ตลอดการทำงานไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ไม่ได้ดูแลใคร เลยไม่อยากให้เป็นภาระใคร ออกมาอยู่นอกบ้านเป็นคนเร่ร่อน คนที่อายุประมาณ 20-30 ปีออกมาเป็นคนไร้บ้าน เรียนจบ ไม่ทำงาน เพราะรู้สึกตัวเองว่าไม่มีค่าอะไร ไม่รู้จะทำไปทำไม เขาเล่าว่า ตั้งแต่เด็ก เขาเป็นพี่คนโต พ่อแม่ ก็พูดทุกวัน ว่า ไม่ได้เรื่อง ทำอะไรก็สู้น้องไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่เคยมีอะไรดีในสายตาพ่อแม่ พอโตขึ้น ก็รู้สึกว่า ชีวิตไม่มีแก่นสารอะไร ทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจ ออกมาเป็นคนเร่ร่อนดีกว่าอยู่ไปวันๆ


คุณจ๋า Adchara Jasmin Saravari เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน มีเรื่องเล่าของเคสต่างๆมากมาย หลากเรื่อง หลากชีวิต นั่งฟังไปก็เก็บเอาไปคิดว่า แปลกดีนะ ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ได้ ไม่รู้ก็ไปหาข้อมูลอ่าน เพราะผมเองโดยส่วนตัว ไม่ชอบการออกหน่วยสงเคราะห์ แจกยา แจกของ แบบนี้ไม่ใช่ทางเลยจริงๆ


พอไปอ่านหนังสือก็พบว่า เหตุที่กลายเป็นคนไร้บ้าน สาเหตุหลักๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน หรือยากจน แต่เกิดจาก คนไร้บ้าน “ถูก”(ทำ) หรือ “สามารถ” ทำลายความนับถือตนเองได้อย่างรุนแรง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนที่ประสบปัญหากลายเป็นคนไร้บ้านมักจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่ำ มีอัตลักษณ์ที่ลดน้อยลง และมีความรู้สึกต่ำต้อย ความนับถือตนเองต่ำ มักพบได้ในกลุ่มเยาวชนไร้บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีอาการซึมเศร้าและปัญหาพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มเยาวชนที่มีบ้าน


ผมคิดว่า คำว่าไร้บ้าน มันไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่ แต่มันเป็นความรู้สึก ความรู้สึกที่คนคนนึง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน เป็นอากาศธาตุ ที่พัดมาพัดไป ไม่มีใครต้องการ และไม่มีใครสนใจ เพราะพอไปดูสาเหตุที่ไปค้นมาเรื่องการนับถือตนเอง หรือ Self-esteem มันสะท้อนเรื่องนี้จริงๆ


สาเหตุที่ทำให้ความนับถือตนเองต่ำในคนไร้บ้าน


1. ประสบการณ์ที่ไม่มีใครต้องการ: คนไร้บ้าน ถูกทำให้รู้สึกด้อยค่า ไม่มีความหมายต่อใครๆโดยเฉพาะในครอบครัว ไม่ได้รับการยอมรับ และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต


2. ความรู้สึกไม่มั่นคง: เมื่อไม่มีความนับถือตัวเอง ก็นำไปสู่ความไม่มีแรงผลักดันให้ทำอะไร แม้กระทั่งทำงานหาเลี้ยงตนเอง หากหิว ก็ขอ เพราะไม่มีเงิน ยากจน ขอมากก็เกิดความอับอาย และอาจถูกทำร้าย ถูกผลักไส วนเวียนหมุนไปซึ่งส่งผล ทำให้ความนับถือตนเองดิ่งลงไปกว่าเดิม


3. ตกในวังวนหายนะ (vitious cycle) เพราะข้างในบอบช้ำ สุขภาพจิตย่ำแย่ ไม่มีอาหาร ที่พักหลับนอน สุขภาพแย่ลง เจ็บป่วย ยิ่งรู้สึกแย่ วนเวียนไปไม่สามารถหลุดออกมาจากวังวนได้


เฮ้อ


พออ่านเรื่องนี้ ผมคิดไปเรื่อยเปื่อย นอกจากคนไร้บ้าน เราอาจจะมี คนไร้(ตัวตน)ที่ทำงาน คือ มาทำงานแบบใร้ตัวตน ไม่มีใครสนใจ จะอยู่ จะมา จะหายไป แทบไม่มีใครรู้ เราอาจจะกำลังมีนักกีฬาไร้เหรียญ (โอลิมปิก) สี่ปีที่ทุ่มเทฝึกฝน ไม่ได้เจอผู้คน ไม่มีใครรับรู้ความยากลำบาก ไปแข่งไม่กี่นาที แพ้ ก็หงอยๆกลับบ้านมา จิตตก หากไม่มีใครช่วยยก อาจจะจิตตกหล่นหายไปได้


เรื่องการสร้างความนับถือตนเองนี่ ผมได้ยินมาก่อนนี้ ตอนที่ทำโรงเรียน ได้เห็นเด็กๆที่พยายามสร้าง “Self” ตั้งแต่อายุ 3 ขวบที่จะพัฒนา “ตัวตน” ขึ้นมาเป็นเสมือนอิฐก้อนแรกที่จะต่อเติมคนคนหนึ่งให้สมบูรณ์ต่อไป หากจะพังก็คงเริ่มพังได้ตั้งแต่ก้อนแรกนี้กันทีเดียว


สิ่งที่พบตอนไปออกหน่วย แม้ว่าจะเป็นหน่วยแจกของ อาหาร รวมถึงออกหน่วยแพทย์อาสา รายสัปดาห์ พบว่า ส่วนใหญ่ อยากมาคุย อยากหาเรื่องเจ็บป่วยมาให้หมอตรวจ อยากให้หมอดู จับ ซักถาม มากกว่า ที่จะสนใจว่าเป็นโรคอะไร หายไหม ยาดีหรือเปล่า กระบวนการอีกอย่างนึงของทีมแพทย์อาสาที่เรียกตัวเองว่า สุขภาวะข้างถนน มีการจัดดนตรีบำบัด ไปร่วมกิจกรรมด้วย ทำให้เขาเหล่านั้นได้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่มีคนสนใจเขามากขึ้นกว่าที่ผ่านมา


ที่เขียนมายาวนานนี้ เพราะทีม มูลนิธิอิสรชน แวะมาชวนหารือ แล้วคุยกันจนเห็นประเด็นว่า เราน่าจะเจอปัญหา คนไร้บ้านอีกมาก เพราะสถานการณ์ต่างๆไม่ว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โอกาสทำมาหากินที่น้อยลง จะมีความล้มเหลวที่มาเยือนมากมาย หากเรายังทำงานแบบเดิม บริจาค ให้สิ่งของ สงเคราะห์ อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ยิ่งทำให้คุณค่าของเขาด้อยลงได้ เพราะเขารู้สึกต้องพึ่งพา ทีมเลยได้ข้อสรุปว่า ทีมงานมูลนิธิอิสรชนอยากจะแก้ที่เรื่อง การนับถือตัวเอง โดยจะทำการประเมิน และหาเครื่องมือที่เหมาะสมในการสร้าง และฟื้นฟู การนับถือตนเอง ของคนไร้บ้านอย่างเป็นระบบ และเชื่อว่า จะทำให้เขาหลุดพ้นจากวังเวียน วังวน ให้เขาหลุดออกไปเป็นคนที่ภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง ผมมองว่าเป็นงานที่น่าสนใจ และหากได้ความรู้น่าจะเอาไปใช้กับการทำงานป้องกันกับคนที่กำลังมีความเสี่ยง อันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์มากจริงๆ


เรามักได้ยิน เรียนรู้ ชื่นชม ยกย่อง ให้รางวัล คนที่ประสบความสำเร็จ ผมกลับมองอีกด้านนะ คนธรรมดา หรือคนที่ไม่ยกย่อง ไม่นับถือ ไม่ชื่นชม แม้แต่ตัวเอง ดำเนินชีวิตแบบไม่มีแก่นสาร เร่ร่อน ไม่สนใครจะเป็นผู้นำ และไม่สนใจที่จะตามใคร ก็ยังมีเรื่องให้ผมได้เรียนรู้อีกหลายแง่มุม แค่รอให้เราเปิดใจ ไปนั่งคุย นั่งฟังเรื่องราวของเขา จะเป็นโอกาสให้เห็นมุมของชีวิต อีกด้าน


หากต้องการสนับสนุนการทำงานเรื่องนี้ สามารถสละเวลาไปร่วมกิจกรรมได้ทุกเย็นวันอังคาร 17.00-19.00 ที่ตรอกสาเก ริมคลองหลอด หลังโรงแรม รัตนโกสินทร์ หรือจะบริจาคเพื่อให้กับกิจกรรมนี้เดินหน้าไปได้ที่


“มูลนิธิอิสรชน" ธ.ทหารไทยธนชาติ สาขาทองหล่อ


เลขที่ 182-2-16241-6


(ต้องการใบเสร็จ Line : jasminjaja)


ช่องทางการติดต่อและติดตามงาน https://www.issarachonfound.com/


ขอบคุณครับ


ก้อง


ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page