top of page

โอกาสและความหวังของผู้พิการในที่สาธารณะ

จากข้อมูลการรายงานคนพิการในไทยของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ ในเดือน มิถุนายน ปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนคนพิการทั่วประเทศประมาณ 2,204,207 ราย โดยมีผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่ 312,131 ราย เเละมีผู้ที่ไม่มีพบข้อมูลสถานะการทำงานอีกจำนวนมาก เเม้ในปัจจุบันจะมีการเรียกร้องให้มีการสนับสนุนส่งเสริมการจ้างงานเเละการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันของกลุ่มคนพิการ เเต่หากมองลึกลงไปจะพบว่ายังมีกลุ่มคนพิการอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังถูกพูดถึงไม่มากนัก การซับซ้อนของความพิการและการถูกกดทับทางสังคม ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ได้ คือ “คนพิการในที่สาธารณะ(Homeless)”

ส่งผลให้การช่วยเหลือและผลักดันคนกลุ่มดังกล่าวยังคงมีน้อยเเละไม่ทั่วถึง เเม้จะมีการเรียกร้องด้านการเข้าถึงโอกาสการทำงานที่เท่าเทียมกันโดยไร้อคติต่อข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เเต่เราไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่าทุกคนในสังคมนั้นไม่ได้มีความต้องการเเละความพร้อมในการพัฒนาที่เท่ากัน ซึ่งเเน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ตัดสินได้ว่า “ใครสามารถพัฒนาได้หรือไม่ได้” เพราะทุกคนนั้นล้วนมีศักยภาพในตัวเองไม่มากก็น้อย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ทุกสังคมควรมี ควรให้ เเละควรสร้าง คือ “โอกาส” ที่เท่าเทียมโดยไม่มีใครถูกเเบ่งเเยก หรือถูกลดทอนคุณค่า เพราะโอกาสคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ หากทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งนี้ได้โดยไม่มีใครต้องถูกขัดขวางด้วยสิ่งที่คนอื่นมองว่าเป็นข้อจำกัด

เเน่นอนว่า “โอกาส” เป็นสิ่งที่สำคัญในการเปลี่ยนเเปลงคุณภาพชีวิต เเต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงโอกาสนั้นได้โดยเฉพาะโอกาสในการมีงานทำของ “คนพิการในที่สาธารณะ” ในสังคมไทย เเม้ปัจจุบันภาครัฐเองจะมีกฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 )เพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เเละส่งเสริมการมีอาชีพ เเม้จะมีนโยบายในเเบบดังกล่าวเเต่ในความเป็นจริงเเล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเเละมีผลสำเร็จได้โดยง่าย หากไม่มีทุน หรือขาดโอกาสจากการมีข้อจำกัดบางอย่าง ดังนั้นทั้งหมดนี้อาจกลายเป็นเรื่องยากที่จะนำไปสู่การมีอาชีพที่มั่นคง โดยเฉพาะในกลุ่มดังกล่าว ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุน การมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ง่ายที่สุดคือการมีบัตรประจำตัวประชาชน เเละ มีบัตรประจำตัวผู้พิการตามกฎหมาย ซึ่งจากการทำงานของมูลนิธิอิสรชนร่วมกับคนไร้ที่พึ่งเราพบว่ายังมีคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะและมีความพิการร่วมด้วยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้พิการ เนื่องด้วยการขาดความรู้เเละความสามารถในการไปติดต่อดำเนินการยังหน่วยงานด้วยตนเอง ซึ่งหากทุกคนสามารถเข้าถึงบัตรที่สำคัญเหล่านี้ได้โดยง่ายนอกจากจะส่งผลต่อการได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้องเเล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าทำงานในหน่วยงานและองค์กร (พ.ร.บ ส่งเสริมเเละพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33)

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเเม้จะมีการเรียกร้องสิทธิเเละความเท่าเทียมโดยไม่เเบ่งเเยก ลดอคติต่อคนพิการจะมีเพิ่มมากขึ้น เเต่มันยังไม่สามารถลบล้างอคติต่อการด้อยค่าหรือตัดสินความสามารถของผู้อื่นผ่านการจำกัดหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงาน โดยเฉพาะคนพิการในที่สาธารณะ ที่มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถพัฒนาได้หรือพัฒนาได้ยาก เเน่นอนว่าอคติในทางลบดังกล่าวที่ถูกตีตรานั้นส่งผลต่อโอกาสของการพัฒนาคุณชีวิตเเละการพัฒนาศักยภาพ สังเกตได้จากอัตราการเติบโตด้านการทำงานของคนพิการในตำเเหน่งระดับสูงขององค์กรที่มีจำนวนน้อย อาจเนื่องจากทอคติที่ฝังรากลึกว่า เขาเหล่านั้นมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการทำงานหรือมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ดีเท่ากับคนอื่นๆโดยใช้ข้อจำกัดทางร่างกายมาตัดสินความสามารถ สำหรับคนพิการที่มีความรู้ทักษะเฉพาะด้านเเม้การจะเติบโตในการทำงานไปสู่ตำเเหน่งระดับสูงยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมแห่งนี้ เพราะทัศนคติเชิงลบเเละอคติในแบบดังกล่าวยังคงมีอยู่ในองค์กรทุกระดับ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสถานะเป็นคนไร้บ้านร่วมอยู่ด้วยการเข้าถึงสิทธิการสมัครงาน การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตตัวเองยิ่งกลายเป็นเรื่องที่ไกลตัวพวกเขาออกไป คนพิการในที่สาธารณะบางคนแม้แต่ไม้เท้าพยุงร่างกายยังเป็นสิ่งที่หาได้ยากและบางคนมีอาการป่วยทางจิต แต่เมื่อสังคมไม่เข้าใจถูกกดทับเชิงซ้อนและตีตราว่า “เป็นคนเร่ร่อนไร้บ้านแล้วพิการอีก” ทำให้กลุ่มดังกล่าวมักถูกมองข้ามผ่านขาดโอกาส และไม่ได้รับการมองเห็นที่ลึกลงไปกว่าการเป็นแค่คนพิการ ดังนั้นการสร้างให้โอกาสและมีทัศนคติ คือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนเเปลงเเละสร้างขึ้นได้หากเราทุกคนเข้าใจถึงความหลากหลายเเละเชื่อมั่นในศักยภาพและเข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่าง สำหรับบางคนสิ่งที่ต้องการอาจมีเพียงการยอมรับในความสามารถโดยปราศจากอคติ เเต่สำหรับบางคนเเล้วเขากลับต้องการเพียง “การช่วยเหลือเเละการมองเห็นโดยไม่ถูกหลงลืมจากสังคม” เเต่สิ่งหนึ่งที่เราล้วนต้องการไม่ต่างกันคือ “การมองเห็นคุณค่าของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่ากันโดยไม่ถูกตัดสิน”

ผู้เขียน สุวนันท์ ยงกลาง


ดู 16 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page