แรงงานพลัดถิ่น เมื่อล้มเหลว ไม่เสียชีวิต ก็ไร้บ้าน
- 1 เม.ย.
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 11 เม.ย.

ก่อนอื่น ขอแสดงความเสียใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อผู้ที่สูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวทั้งที่ในไทยและที่เมียนมา
หลังจากเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวและมีตึกถล่มในกรุงเทพมหานครเราก็พยายามเช็คในพื้นที่ทันทีว่ามีเคสคนไร้บ้าน บ้างไหม เพราะอาชีพอีกอาชีพหนึ่งของคนไร้บ้าน คือ กรรมกรก่อสร้าง ที่มีค่าแค่แรงงานรายวัน แต่คนเหล่านี้กับมีฝีมือช่าง เป็นฝีมือเฉพาะ ไม่ว่าจะฉาบ หลอม ก่ออิฐก่อปูน เขาทำได้หมด แต่พอไม่มีงาน ถูกนายหน้าโกงค่าแรงบ้าง ก็ทำให้ตกงานกลับบ้านไม่ได้กลายมาเป็นคนไร้บ้าน
แต่เมื่อเช็คแล้วโชคดีที่ไม่มีคนไร้บ้านที่เรารู้จัก ซึ่งเราพบว่า แคมป์คนงานก่อสร้างใหญ่ๆ คนไร้บ้านจะไม่ได้ถูกการจ้างวานไปทำงานมากเพราะว่าเขาไม่มีบัตรประชาชน ณ เวลานั้น และผู้รับเหมาจะหลอกคนไร้บ้านไม่ได้ในเรื่องการไม่จ่ายค่าแรง ส่วนมากคนไร้บ้าน จะถูกหลอกไปทำงานก่อสร้างในไซต์งานเล็กๆ หรือพวกงานก่อสร้างระดับหมู่บ้านมากกว่า
เมื่อเราพูดถึงแรงงานข้ามชาติ แรงงานพลัดถิ่น ที่บอกว่าเมื่อผิดหวัง เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงินส่งกลับบ้าน ก็ไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะเขาแบกความหวังและความฝันเพื่อจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานหนักเพื่อส่งเงินกลับบ้าน เพราะฉะนั้นจากที่เราคุยกับคนไร้บ้าน จะไม่สามารถเอาความผิดหวังกลับไปบ้านได้ เพราะสิ่งหนึ่งเขาไม่สามารถทำให้ครอบครัวเขาล้มเหลวได้ถ้าล้มเหลวก็ต้องล้มเหลวที่ตัวเขา
บนความคาดหวังที่แบกไว้มากมาย กลับจะต้องมาทำงานบนความเสี่ยง ที่ไม่มีคุณภาพชีวิต ใช้แรงกายแลกรายได้รายวัน นอกจากนั้นยังพบว่าปัญหาที่ต้องเผชิญนั้นมีตั้งแต่เรื่องความปลอดภัย การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม สุขอนามัย มุมมองของคนทั่วไป การถูกปฏิเสธและการถูกปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม และการเข้าไม่ถึงสวัสดิการบริการต่าง ๆ
เมื่อพูดถึงระบบสวัสดิการทั้งคนทั่วไปหรือแม้แต่คนไร้บ้านเองอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ได้ถูกมองในฐานะเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงในชีวิตแก่ประชาชน ไม่ใช่แค่เพียงคนไร้บ้าน หรือ แรงงานพลัดถิ่น แรงงานข้ามชาติ เท่านั้นคือสวัสดิการที่ไม่ทั่วถึงครอบคลุม เข้าถึงยาก ไม่ได้ช่วยเหลือกลุ่มที่ควรได้รับอย่างที่ควรจะเป็น
สิ่งที่สังเกตได้จากการสัมภาษณ์คนไร้บ้านคือ ความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือสวัสดิการไม่ใช่สิ่งแรกที่นึกถึงเมื่อประสบกับปัญหาหรือวิกฤติต่าง ๆ ในชีวิต กลับกลายเป็นภาคเอกชนอย่างมูลนิธิอิสรนชนหรือองค์กรอื่น ๆ ก็ดีที่ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และช่วยเยียวยาปัญหาคนไร้บ้าน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนเจ้าหน้าที่ งบประมาณ และอำนาจหน้าที่ทำให้ช่วยเหลือได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และการขาดการสนับสนุนจากภาครัฐย่อมเป็นภาระต่อองค์กรเอกชนอีกด้วย ดังนั้นการสื่อสารเพื่อให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาจากระบบเองก็เป็นอีกทางในการส่งเสียงไปถึงรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
เอาจริงๆนะถ้าไม่ใช่เหตุการณ์แผ่นดินไหว ถึงแม้ย้อนไปตั้งแต่เหตุการณ์โควิด19 เสียงของคนเหล่านี้จะไม่ดังเลยเพราะเอาเข้าจริงแล้วเขาถูกลืมและถูกมองไม่เห็นเสมอ ในวิกฤตภัยพิบัติ ยังมีความโชคดีเสมอคือการได้สะท้อนเสียงของคนเหล่านี้ และสุดท้ายทำให้สังคมได้เห็นว่ามันคือความไม่มั่นคงในคุณภาพชีวิตและสวัสดิการ
นอกจากเรื่องสิทธิสวัสดิการของแรงงานแล้วหรืออีกมุมที่เราจะพูดว่าสิทธิสวัสดิการของความเป็นพลเมือง
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ยังมีเรื่องที่ทำให้เราได้เห็นการถูกเอารัดเอาเปรียบ การโกงกิน ความไม่เป็นธรรม อีกมากมาย และการรับมือกับเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง SMS ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ ผ่านมาเกือบ 2 วันแล้วยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับ SMS แจ้งเตือน
และอีกข้อหนึ่งที่มูลนิธิอิสรชนพยายามเสนอมาตั้งแต่ในช่วงสถานการณ์โควิดแล้วเราก็พยายามผลักดันและอยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆไม่ใช่แค่สถานการณ์ภัยพิบัติ แต่ด้วยทุกวันที่เราได้รับสายจากผู้ประสบปัญหาสังคม เช่น วันนี้ตกงานไม่มีรายได้ไม่มีเงินจ่ายค่าห้องเช่าเขาจะไล่ออกจากห้องมีที่ไหนให้พักกินชั่วคราวได้บ้าง เอาจริง เราไม่มี emergency shelter เลย ที่พักพิงชั่วคราวที่มาพร้อมกันให้คำปรึกษาและช่องทางกระบวนการช่วยเหลือส่งต่อ ซึ่งมันควรจะมี ณ วันนี้ นอกจากการสูญเสียจากตึกถล่ม ยังมีภาวะความหวาดระแวง การแพนิค ความไม่มั่นใจ ความหวาดกลัว ที่หลายคนไม่กล้ากลับไปคอนโดของตัวเอง ยังโชคดีที่ทีมกรุงเทพมหานคร เปิดสวนสาธารณะให้เป็นที่พักผ่อนชั่วคราว หรือ ณ วันนี้ เริ่มมีหลายหน่วยงานของเอกชนให้พักในห้องพักฟรี แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ควรจะเป็นการระดมจากภาคเอกชนอย่างเดียวทุกคนช่วยกันเป็นเรื่องดีในภาวะวิกฤต แต่มันควรจะเป็นบทบาทของภาครัฐจากภาษีประชาชนที่ควรจะสร้างสิทธิสวัสดิการเหล่านี้ให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่ม
Comments